วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เขตห้ามล่าสัตว์ป่าดูนลำพัน

                
                  ป่าดูนลำพันตั้งอยู่ที่ตำบลนาเชือก  อำเภอนาเชือก  จังหวัดมหาสารคาม  เดิมเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ต่อมาปี  พ.ศ.  2536  ได้มีการค้นพบปูน้ำจืด(ปูป่า)ซึ่งมีสีสันสวยงามชนิดใหม่ของโลกในบริเวณพื้นที่ป่าดูนลำพันภายหลังได้ขอพระราชทานชื่อว่า "ปูทูลกระหม่อม" และเนื่องจากป่าดูนลำพันมีลักษณะเด่นทางระบบนิเวศน์ จึงเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยเพียงแห่งเดียวในโลกของ ปูทูลกระหม่อม  ดังนั้นกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแลสิ่งแวดล้อม ร่วมกันจังหวัดมหาสารคาม จึงพิจารณาประกาศให้พื้นที่ ป่าดูนลำพันเป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นการป้องกันภัยคุกคามและปัญหาการบุกรุกพื้นที่ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อจำนวน ประชากรและระบบนิเวศน์ของปูทูลกระหม่อม จึงได้ออกเป็นประกาศกระทรวงฉบับที่ 
 7 ปี พ.ศ. 2539 ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ 2535


                ต่อมาปี พ.ศ. 2539 กรมป่าไม้โดยส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ  ได้ส่งเจ้าหน้าที่มาสำรวจพบว่านอกจากปูทูลกระหม่อมแล้วยังมีความหลากหลายทางธรรมชาติทั้งพืชพรรณและสัตว์ป่า จึงได้ดำเนินการเสนอต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และได้มีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2541  โดยนายปองพล  อดิเรกสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  กำหนดให้พื้นที่สาธารณประโยชน์ป่าดูนลำพันเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ดูนลำพัน ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่  116 ตอน พิเศษ 40 ง  ลง วันที่ 14 มิถุนายน 2542


สถานที่ตั้งและอาณาเขต
            ตั้งอยู่ที่ ถนนอำเภอนาเชือก - พยัคฆภูมิพิสัย ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 219 ตำบลนาเชือก อำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม ระหว่างเส้นละติจูดที่ 103 ํ  01'  30"  เส้นลองติจูดที่ 15 ํ 45' 57" ระวางแผนที่  5640 IV  พิกัด 48QUC 891442  พิกัด  889445 อยู่ห่างจากสถานีตำรวจภูธรอำเภอนาเชือกประมาณ 3 กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งหมด  343 ไร่

ปูทูลกระหม่อม

            
               ปูทูลกระหม่อมเดิมชาวบ้านเรียกกันว่า  "ปูแป้ง" เป็นปูน้ำจืดที่มีสีสันสวยงามพบทั่วไปในป่าดูนลำพัน รอบ ๆ หนองดูน และได้มีการตรวจสอบทางวิชาการครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2536  โดยศาสตราจารย์ไพบูลย์  นัยเนตร ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ทางธรรมชาติ (National Museum of Natural History Leidem  The Netherlands)ประเทศเนเธอร์แลนด์  พบว่าเป็นปูน้ำจืดชนิดใหม่ของโลกอยู่ในกลุ่มปูป่ามีสีสันสวยงาม  กระดองสีม่วงเปลือกมังคุด ขอบเบ้าตา ขอบกระดอง ขาเดินทั้ง 4 คู่ และก้ามหนีบทั้ง 2 ข้าง มีสีเหลืองส้ม ปลายขาข้อสุดท้ายและปลายก้ามหนีบมีสีขาวงาช้าง

ประวัติของปูทูลกระหม่อม

               เนื่องจากปี พ.ศ. 2536 เป็นปีที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์อัครราชกุมารีจะทรงเจริญพระชนมายุครบ 36 พรรษา ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นผู้นำและมีพระปรีชาสามารถในงานด้านวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้กราบทูล ขอพระราชทานพระอนุญาต อัญเชิญพระนามของพระองค์มาเป็นนามของปูน้ำจืดชนิดนี้และได้รับพระราชทานอนุญาตให้เรียกชื่อปู ชนิดนี้ว่า "ปูทูลกระหม่อม" ซึ่งพบเพียงแห่งเดียวที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าดูนลำพัน และได้กำหนดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ลำดับที่ 14    ของสัตว์ป่าจำพวกไม่มีกระดูกสันหลังในกฎกระทรวง ฉบับที่ 11(พ.ศ.2543) เพิ่มเติมจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองท้ายกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2537) เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2543 ในประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่มที่  117 ตอนที่ 3 วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2543
            จากการสำรวจนับจำนวนปูทูลกระหม่อมระหว่างวันที่ 15-21 พฤษภาคม พ.ศ.2546 เจ้าหน้าที่สำรวจสามารถเข้าถึงพื้นที่และตรวจ นับจำนวนรูปูทูลกระหม่อมได้  23,488 รู ในพื้นที่ 120 ไร่ ซึ่งรวมกับบริเวณที่เป็นป่าหญ้ารกทึกซึ่งผู้สำรวจไม่สามารถเข้าถึงในพื้นที่อีก 42 ไร่ ซึ่งมีจำนวนปูอาศัยอยู่น้อย จึงใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างพื้นที่ 1 ไร่ต่อจำนวนปู 10 ตัว สรุปว่าจำนวนปูทูลกระหม่อมที่สำรวจในปี พ.ศ.2546 ในพื้นที่รวมทั้งหมด  162 ไร่ คือ 23,908 ตัว

               นอกเหนือจากปูทูลกระหม่อมที่อาศัยอยู่ในผืนป่าแห่งนี้แล้ว ก็ยังมีสัตว์ป่าสงวนอีกหลายชนิดให้ผู้ที่สนใจได้เข้าชมกัน








ขอบคุณ










ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น